MusicPlaylistView Profile
Create a playlist at MixPod.com

วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

# ห้ามบวชภิกษุณี #

ห้ามบวชภิกษุณี

“มาตรา ๓๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบ ร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

จากการที่มหาเถรสมาคมได้มีมติรับทราบมติของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ที่มีมติให้ถอดวัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ออกจากการเป็นสาขาของวัดหนองป่าพง ทั้งนี้ เนื่องจากคณะสงฆ์วัดโพธิญาณ ที่มีพระวิสุทธิสังวรเถร (พระพรหมวังโส) เป็นเจ้าอาวาส ได้บวชให้แก่ภิกษุณี เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค.๒๕๕๒ โดยบวชสตรีชาวต่างประเทศ ๔ คน โดยมีภิกษุณีอยยา ทถาโลก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวิสุทธิสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสุชาโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ซึ่งเป็นการกระทำเช่นนี้มหาเถรสมาคมถือว่าขัดกับระเบียบของคณะสงฆ์ไทย เพราะได้มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ห้ามภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย อุปสมบทให้แก่สตรี คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓๐ ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี และพระวรธรรมคติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี

กรณีเช่นนี้ ในทางกฎหมายไทยถือได้ว่าวัดดังกล่าวไม่มีต้นสังกัดดูแล และจะส่งผลให้ไม่ได้รับการดูแลจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ และมหาเถรสมาคมด้วย อย่างไรก็ตามสถานภาพของวัดจะยังคงอยู่ เพราะได้รับการอนุญาตจากทางประเทศออสเตรเลียแล้ว แต่ประเด็นที่ตามมาจากกรณีนี้ก็นำไปสู่การถกเถียงอีกครั้งหนึ่งว่าการห้าม บวชภิกษุณีของคณะสงฆ์ไทยนั้นถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่

เมื่อเราพิเคราะห์ถึงรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและพระราชบัญญัติคณะ สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่พบว่ามีบทบัญญัติ ใดที่ห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณีแต่อย่างใด และยิ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับปฏิญญาสากล ข้อที่ ๑๘ ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ในการนับถือศาสนาแล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่าสามารถกระทำได้

ฉะนั้น การที่อ้างประเด็นในข้อกฎหมายว่าการบวชภิกษุณีของไทยเรานั้นไม่สามารถทำได้ จึงไม่เป็นการถูกต้อง แต่หากจะอ้างเหตุผลอื่น เช่น อ้างว่าการบวชภิกษุณีต้องบวช ๒ ครั้ง คือ บวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงบวชจากภิกษุสงฆ์อีกครั้ง แต่ภิกษุณีสงฆ์ในฝ่ายเถรวาทได้ขาดช่วงไปแล้ว เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์ จึงบวชภิกษุณีไม่ได้ จึงพอรับฟังได้บ้าง

แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่าอันที่จริงในสมัยพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีการแบ่งแยกนิกายเป็นมหายาน หรือเถรวาทแต่อย่างใด กอปรกับในศรีลังกาซึ่งเป็นเถรวาทเหมือนกับเราก็ยังคงมีภิกษุณีอยู่ และมีการบวชภิกษุณีกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และภิกษุณีที่เป็นคนไทยเราหลายท่านก็บวชมาจากศรีลังกานี่เอง

บางท่านอาจจะโต้แย้งว่าภิกษุณีที่ศรีลังกาหมดไปแล้วมิใช่หรือนั้น สามารถอธิบายได้ว่าเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๙๐๐ คณะภิกษุณีสงฆ์ที่ศรีลังกา ได้ไปบวชภิกษุณีที่วัดป่าใต้ เมืองนานกิง เป็นการสืบทอดการบวช ภิกษุณีสงฆ์ จากศรีลังกาไปประเทศจีน และเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ สูญสิ้นไปจากศรีลังกา เพราะการรุกรานของกษัตริย์ฮินดูจากอินเดียตอนใต้ ซึ่งต่อมาคณะภิกษุณีสงฆ์จาก ศรีลังกา ก็ไปรับการบวชมาจากภิกษุณีสงฆ์จากไต้หวัน ซึ่งเป็นสายจีนที่บวชจากศรีลังกาแต่เดิมมานั่นเอง สายการบวชสายนี้จึงนับว่าเป็นสายเดียวกันโดยปริยาย

เมื่อเราพิจารณาถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาแล้วจะพบว่าในสมัย พุทธกาลนั้นไม่นิยมในการที่ผู้หญิงจะออกบวช วัฒนธรรมของอินเดียโบราณนั้นผู้หญิงจะหลุดพ้นได้เพียงอย่างเดียวก็คือการ ภักดีต่อสามี เพราะฉะนั้นการที่ผู้หญิงจะขอบวชในสมัยพระพุทธเจ้า พระองค์จึงจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยทรงปฏิเสธถึงสามครั้ง ในที่สุดพระอานนท์ทูลถามว่าผู้หญิงกับผู้ชายมีศักยภาพในการเข้าถึงธรรมเช่น เดียวกันหรือไม่ พระองค์ทรงยืนยันว่า ทั้งผู้หญิงผู้ชายมีศักยภาพในการเข้าถึงธรรม และสามารถบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน สาระข้อนี้เป็นสาระที่สำคัญยิ่งในพุทธศาสนา เพราะไม่มีศาสนาอื่นก่อนหน้านี้ที่กล้าที่จะรับรองความสามารถของหญิงชายทัด เทียมกัน ซึ่งหมายความว่า ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแรกในโลกที่เปิดประตูของการเข้าสู่อิสรภาพทางจิต วิญญาณว่าไม่ได้จำกัด โดยเพศ สีผิว หรือวรรณะ

โดยก่อนหน้านี้พระพุทธเจ้าทรงยกเลิกวรรณะซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคมที่ สำคัญของวัฒนธรรมอินเดียในศาสนาของพระองค์ไปแล้ว ทรงยกเลิกความแตกต่างทางวรรณะ ทรงยกเลิกความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิวและเพศ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของพุทธศาสนาที่ทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของโลก มิใช่เป็นศาสนาที่จำกัดอยู่เฉพาะในดินแดนชมพูทวีปเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นความงดงามที่ส่งประกายทำให้พุทธศาสนาเจิดจรัสเป็นศาสนาสำคัญ ชองโลกศาสนาหนึ่ง

หลังจากที่พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเพราะผู้หญิงสามารถบรรลุ ธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชายแล้ว พระองค์ก็ประทานโอวาทว่าพุทธศาสนานี้ต่อไปในอนาคตจะเสื่อมหรือจะเจริญขึ้น อยู่กับการดูแลและการปฏิบัติของพุทธบริษัท ๔ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทรงรับสั่งด้วยว่าต่อไปพระศาสนาจะเสื่อมเมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพยำเกรงในศีลและสมาธิ พุทธศาสนาที่พระองค์เรียกว่าพระสัจธรรมในต่อไปในอนาคตข้างหน้าจะเสื่อมหาก พุทธบริษัท ๔ ไม่เคารพซึ่งกันและกัน

จากพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงประเด็นในปัจจุบันที่เราถกเถียงกันว่าควรจะมีการห้ามบวช ภิกษุณีหรือไม่นั้น จึงได้รับคำตอบว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีภิกษุณีเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าประทานอนุญาต และไว้วางใจให้พุทธบริษัท ๔ ช่วยกันดูแลสืบสานพระพุทธศาสนา หากไร้เสียซึ่งภิกษุณี พุทธบริษัท ๔ ยังคงเป็นเพียงพุทธบริษัท ๓ เช่นในปัจจุบันแล้วไซร้ พุทธศาสนาในประเทศไทยจะไม่เสื่อมลงได้อย่างไร

ฉะนั้น การห้ามสตรีบวชภิกษุณีนอกจากจะขัดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการขัดต่อพุทธประสงค์ เพราะเป็นการบัญญัติสิ่งที่นอกเหนือจากที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อีกด้วย

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์วันพุธที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
http://www.prachatai.com/journal/2009/12/27186

--
twitter
mondayblog /senateblog
tuesdayblog/designblog
wednesdayblog/senateblog
thursdayblog/blog1951/sunnews9
fridayblog/9fridayblog
saturdayblog /kratongblog
sundayblog /chun1951
http://www.sahavicha.com
http://teetwo.blogspot.com/2008/04/1_28.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น